วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

องค์ความรู้









๑.ความหมายของป่าเสื่อมโทรม
"ป่าเสื่อมโทรม" หมายความว่า พื้นที่ป่าในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดหรือบางส่วน มีไม้มีค่าที่มีลักษณะสมบูรณ์เหลืออยู่เป็นส่วนน้อย และป่านั้นยากที่จะกลับฟื้นคืนได้ตามธรรมชาติโดยมีลูกไม้ขนาดความสูงเกิน 2 เมตร ขึ้นไป ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ 20 ต้น หรือมีไม้ขนาดความโตวัดโดยรอบลำต้นตรงที่สูง 130 เซนติเมตร ตั้งแต่ 50 - 100 เซนติเมตร ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ 8 ต้น หรือมีไม้ขนาดความโตเกิน 100 เซนติเมตร ขึ้นไป ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ 2 ต้น หรือพื้นที่ป่าที่มีไม้เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วต้องมีจำนวนไม่เกินไร่ละ 16 ต้น



๒.สาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางแก้ไขป่าเสื่อมโทรม

สาเหตุการสูญเสียพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ป่าไม้เสื่อมโทรมลง สามารถสรุปได้ดังนี้

๑.การทำไม้ ความต้องการไม้เพื่อกิจการต่างๆ เช่น เพื่อทำอุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงงานกระดาษสร้างที่อยู่อาศัยหรือการค้า ทำให้ต้นไม้ถูกลอบตัดและตัดถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งอนุญาตผูกขาดทั้งสัมปทานระยะยาว ขาดระบบการควบคุมที่ดี ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมุ่งแต่ตัวเลขปริมาตรที่จะทำออก โดยไม่ระวังดูแลพื้นที่ป่า ไม่ติดตามผลการปลูกป่าทดแทนตามเงื่อนไขสัมปทานว่า ได้ดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโตอย่างปลอดภัยหรือไม่ จนในที่สุดได้มีพระราชกำหนด ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ประกาศยกเลิกสัมปทานป่าไม้ (ป่าบก) ทั่วประเทศไทย เมื่อเกิดกรณีกระทู้ขึ้นมาและกล่าวโทษว่า การทำไม้เป็นเหตุทำลายป่า เป็นผลให้เกิดภัยพิบัติเช่นนั้นขึ้น

๒.การเพิ่มจำนวนประชากร ของประเทศ ทำให้ความต้องการจากภาคเกษตรกรรมมากขึ้น ความจำเป็นที่ต้องการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าไม้ในเขตภูเขาจึงเป็นเป้าหมายของการขยายพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก การบุกรุกพื้นที่ป่าอาจกระทำโดยราษฏรสามารถบุกรุกเข้าครอบครองพื้นที่หลัง การทำไม้ได้อย่างง่ายดาย จากการ เพิกเฉยของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเกษตรกรเหล่านี้ทำการเกษตรโดยขาดการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมี ประสิทธิภาพเป็นเหตุให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ต้องขายที่ดินแล้วอพยพเข้าป่าลึกไปเรื่อยๆ หรือการขายที่ดินผืนใหญ่ ในราคาสูงขึ้นผิดปกติให้แก่นักลงทุนที่สนองนโยบายการท่องเที่ยวด้วยการสร้าง รีสอร์ท สนามกอล์ฟ ยิ่งเป็นเหตุ ซ้ำเติมให้พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกมากขึ้น

๓. การส่งเสริมการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการส่งออก เช่น มันสำปะหลัง ปอ ฯลฯ โดยไม่ส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งๆ ที่พื้นที่ป่าบางแห่งไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในการเกษตรกรรมเพาะปลูก เนื่องจาก (๑) พื้นที่ขรุขระไม่สะดวกในการขุดไถพรวน (๒) พื้นที่ลาดเอียง และดินง่ายต่อการเกิดกษัยการ (๓) ชั้นดินบาง หลังจากการเพาะปลูกได้ไม่นาน พื้นดินที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นทุ่งหญ้าไม่สามารถปลูกพืชได้อีก ทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการบุกรุกป่าเพิ่มมากขึ้นอีก กรณีของการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำก็เช่นกัน ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกและทำลายลงกว่าครึ่งในรอบ สามสิบ ปีที่ผ่านมา

๔.การกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่า กระทำไม่ชัดเจนหรือไม่กระทำเลยในหลายๆ ป่า ทำให้ราษฏรเกิดความสับสนทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา บางแห่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เองยังไม่สามารถชี้แนวเขตได้ถูกต้อง ทำให้เกิดการพิพาทในเรื่องที่ดินทำกินและที่ดินป่าไม้อยู่ตลอดเวลา และมักเกิดการร้องเรียนต่อต้านในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งช่วงระยะนี้เองการบุกรุกพื้นที่ป่าก็ดำเนินไปเรื่อยๆ กว่าจะรู้แพ้รู้ชนะป่าก็หมดสภาพไปแล้ว

๕.ไฟไหม้ป่า ประเทศไทยมักเกิดไฟไหม้ป่าในฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี เพราะในฤดูร้อนพว
กวัชพืชในป่าหรือจากการผลัดใบของต้นไม้ ใบไม้จะแห้งแล้งและติดไฟง่าย การสูญเสียป่าไม้เกิดขึ้นทุกๆ ปีในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไฟป่าอาจเกิดจากการกระทำของคนหรือจากธรรมชาติ ผลเสียของไฟไหม้ป่าทำลายทรัพยากรป่าไม้ คือ (๑) ทำลายต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (๒) ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง เนื่องจากฮิวมัสถูกทำลายและบางครั้งเกิดการพังทลายของดินตามมาด้วย (๓) ทำให้โรคพืชระบาดกับต้นไม้ได้ง่าย เนื่องจากบางส่วนของต้นไม้ถูกทำลาย โรคเห็ด รา แมลง เจาะไชเป็นไปได้ง่ายขึ้น (๔) ต้นไม้ที่หยุดการเจริญเติบโตชั่วคราวจะถูกต้นไม้อื่นเบียดบังแสงจนทำให้ ต้นไม้แคระแกร็นไม่มีประโยชน์ (๕) ความชื้นในดินถูกทำลาย เนื่องจากพืชคลุมดินถูกทำลายพืชขาดแคลนน้ำ

๖.การทำเหมืองแร่ แหล่งแร่ที่พบในบริเวณที่มีป่าไม้ปกคลุมอยู่ มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดหน้าดินก่อน จึงทำให้ป่าไม้ที่ขึ้นปกคลุมถูกทำลายลง เส้นทางขนย้ายแร่ในบางครั้งต้องทำลายป่าไม้ลงเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างถนนหนทาง การระเบิดหน้าดินเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ธาตุเกิดผลทำลายป่าไม้บริเวณใกล้เคียง โดยไม่รู้ตัว

๗.การทำลายของสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง สัตว์ทำลายป่าไม้โดย (๑) กัดกินใบ กิ่ง รากเหง้าหรือหน่อของพืช (๒) การเหยียบย่ำจะทำให้ต้นอ่อนของพืชถูกทำลาย ดินบริเวณโคนต้นไม้ถูกย่ำจนแน่น โครงสร้างของดินเสียไป ทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ความเสียหายในประเทศไทยในข้อนี้มีไม่มากนัก จะมีอยู่บ้างเล็กน้อยในบริเวณจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก

๘.การทำลายของเชื้อโรคและแมลง ต้นไม้ในป่าเป็นจำนวนมากที่ถูกทำลายโดยเชื้อโรคและแมลง จะเกิดการเหี่ยวเฉาแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต บางชนิดต้องสูญพันธุ์ เช่น แมลงจำพวก "มอดป่า" นับว่าเป็นศัตรูป่าไม้ที่สำคัญในเมืองไทย (อำนาจ เจริญศิลป์,๒๕๒๘) ได้ทำลายสวนป่าสักในเขตจังหวัดลำปาง แพร่ สุโขทัย และจังหวัดอื่น ๆ ให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

๙.ความตระหนักและความร่วมมือของประชาชนต่อการอนุรักษ์ยังมีน้อย เนื่องจากยังมีการลักลอบตัดไม้เพื่อนำไปก่อสร้างบ้านเรือนหรือใช้สอยอื่นๆ หรือเพื่อการเกษตร หรือการเผาพื้นที่ป่าที่มีปรากฏให้เห็นได้เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้การนิยมเครื่องเรือนที่ผลิตมาจากไม้ที่มีค่า เช่น ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้ชิงชัง ฯลฯ ทำให้ผู้ผลิตต้องเร่งแสวงหาไม้เพื่อสนองความต้องการของประชาชนผู้ซื้อมาก ขึ้น



ผลกระทบ

๑.ทรัพยากรดิน

๑.๑ การชะล้างพังทลายของดิน ปกติพืชพรรณต่างๆ ของต้นไม้ ไม้พุ่ม วัชพืชต่างๆ ทุกส่วนของต้นไม้มีบทบาท ในการช่วยสกัดกั้นไม่ให้ฝนตกถึงดินโดยตรง ความต้านทานการไหลบ่าของน้ำ ช่วยลดความเร็วของน้ำที่จะพัดพาหน้า ดินไป มีส่วนของรากช่วยยึดเหนี่ยวดินไว้ทำให้เกิดความคงทนต่อการพังทลายมากยิ่งขึ้น แต่หากพื้นที่ว่างเปล่าอัตราการ พังทลายของดินจะเกิดรุนแรง การสูญเสียดินจะเพิ่มขึ้น


๑.๒ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ บริเวณพื้นดินที่ไม่มีวัชพืชหรือป่าไม้ปกคลุม การพัดพาดินโดยฝนหรือลมจะเกิดขึ้น ได้มาก โดยเฉพาะบริเวณผิวหน้าดิน

๒.ทรัพยากรน้ำ

๒.๑ น้ำท่วมในฤดูฝน การกระทำใด ๆ ที่รบกวนดิน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ไฟป่า การชักลากไม้ ทำให้ผิวดินแน่น จำนวนรูพรุนขนาดใหญ่ลดลง การซึมน้ำผ่านผิวดินลดลง ก่อให้เกิดน้ำไหลบ่าหน้าผิวดินเพิ่มมากขึ้นจนระบายน้ำไม่ทัน จะกลายสภาพเป็นอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างได้ไม่มากก็น้อย


๒.๒ ความแห้งแล้งในฤดูแล้ง การแผ้วถางทำลายป่าต้นน้ำเป็นบริเวณกว้างทำให้พื้นที่ป่าไม้ไม่ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ ทำให้เกิดการระเหยของน้ำจากผิวดินสูง แต่การซึมน้ำผ่านผิวดินต่ำ ดินดูดซับและเก็บน้ำภายในดินน้อยลง ทำให้น้ำหล่อ เลี้ยงลำธารมีน้อยหรือไม่มี ลำธารจะขอดแห้ง ความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำปรากฏให้เห็นในปลายปี 2534-2536 และต้นปี 2535-2537 และปี 2536 ได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับการเกิดภาวะการขาดแคลนน้ำอย่างกว้างขวาง โดยขอให้ ทุกคนประหยัดการใช้น้ำพร้อมกับข้อเสนอแนะวิธีการใช้น้ำในทุกรูปแบบ เพื่อลดการสูญเสียของน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค


๒.๓ คุณภาพน้ำเสื่อมลง คุณภาพน้ำทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพล้วนด้อยลง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง หรือทำลายพื้นที่ป่า การปนเปื้อนของดินตะกอนที่น้ำพัดพาด้วยการไหลบ่าผ่านผิวหน้าดินหรือในรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนี้ การปราบวัชพืชหรืออินทรีย์ต่างๆ ที่อยู่ในแนวทางเดินของน้ำ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนและสร้างความสกปรกต่อน้ำได้ ไม่มากก็น้อย และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นทวีคูณซึ่งต่างไปจากพื้นที่ต้นน้ำที่มีป่าปกคลุม น้ำจะมีคุณภาพดีไหล สม่ำเสมอและมีปริมาณมากพอทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ตะกอนที่อยู่ในแหล่งน้ำหรือลงสู่ ู่ทะเล จะทำให้น้ำอยู่ในสภาพขุ่นข้น ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ซึ่งมีความสำคัญในการสังเคราะห์แสงไม่สามารถส่องไปได้ เป็นการขัดขวางขบวนการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำ ส่งผลกระทบต่อทางประมงในทางอ้อม

๓. มนุษย์

๓.๑การอพยพย้ายถิ่น เนื่องจากพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลาย พื้นดินขาดความอุดมสมบูรณ์หรือจากฝนตกหนักพร้อม ๆ กับการเกิดการพังทลายของดินลงมาจากพื้นที่ป่าถูกทำลาย พัดพาบ้านเรือนสิ่งของต่างๆ และทำลายชีวิตมนุษย์อย่าง เตรียมตัวไม่ทัน การอพยพไปอยู่ถิ่นใหม่จึงเกิดขึ้น เนื่องจากถิ่นเก่าไม่ปลอดภัยต่อการดำรงอยู่ดังเหตุเกิดในภาคใต้ บริเวณพื้นที่ ต.กระทูน อ.พิปูน ต.คีรีวงค์ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช การเกิดภัยแล้งจนต้องอพยพมาหางานทำในถิ่นอื่น


แนวทางการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม
การฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแนวการพัฒนาพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ
นี่เป็นตัวอย่างในการฟื้นฟูสภาพป่าของหมู่บ้าน บ้านศรีถาวรพนา
แนวทางฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อย่างเดิมนั้น มีด้วยกัน ๕ แนวทาง

ประการแรก ส่งเสริมการปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง โดยเพาะชำกล้าไม้ ใช้สอยไม้ผลและไม้เศรษฐกิจตามแนวพระราชดำริ ได้แก่ หมากเม่า ไผ่ป่า และหวายดง "เราจะเน้นให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการปลูกพืชอาหารป่า เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ดินและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างถูกวิธี ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตพืชป่าที่มีความหลากหลายและสามารถใช้ประโยชน์จากหน่อและลำต้นสำหรับการบริโภค และแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่ายเพิ่มรายได้เสริมให้แก่คนในพื้นที่


ประการที่สองต้องฝึกอบรมเยาวชนรักษ์ป่าพิทักษ์แผ่นดินแม่ เพื่อให้เยาวชนเป็นแนวร่วมสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ทรัพยากรป่า เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชนและราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ


ประการที่สาม อบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เพื่อให้ “คน” และ “ป่า” สามารถอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทำให้ราษฎรเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมจากผู้บุกรุกทำลายป่า มาเป็นคนดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน


ประการที่สี่ ฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณต้นน้ำภายในพื้นที่โครงการ โดยการเพาะชำกล้าไม้ชนิดต่างๆ ๒ แสนกล้า ได้แก่ ประดู่ สัก ไผ่ สะเดา ขี้เหล็ก นนทรี ยางนา ตีนเป็ด มะกอกป่าพันชาด เม่า เต็ง และส่งเสริมราษฎรในท้องถิ่นปลูกป่าซ่อมแซมป่าเสื่อมโทรม



ประการที่ห้า ก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน (Check Dam) หนึ่งร้อย ฝาย เพื่อกักเก็บน้ำไว้บนภูเขา สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่าไม้ ดิน และบรรยากาศไม่ให้เกิดความแห้งแล้ง โดยใช้แรงงานจากราษฎรในพื้นที่ เป็นการสร้างงานและรายได้แก่ราษฎรด้วย ผลสำเร็จของการพัฒนาป่าไม้ที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมในปี ๒๕๔๙ได้แก่ หมู่บ้านศรีถาวรพนาได้รับรางวัลชมเชยด้านการบริหารจัดการพื้นที่ป่าระดับภาค ที่สามารถฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้คืนความอุดมสมบูรณ์ โดยที่ราษฎรมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ซึ่งจัดโดยสำนักงาน กปร. เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ หกสิบปี


แผนงานในการดำเนินงานเป็นขั้นตอน
๑.การปลูกป่า เป็นการดำเนินงานในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ถูกแผ้วถางบุกรุกทำลายจนกลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น จำเป็นต้องปลูกป่าทดแทน เพื่อให้สามารถคืนสภาพป่าที่ถูกทำลายไป ให้กลับมามีสภาพดังเดิมตามธรรมชาติให้มากที่สุด โดยกำหนดขั้นตอนในการดำเนินงาน ดังนี้
(๑) การสำรวจพื้นที่และจัดทำข้อมูลเบื้องต้น
-ดำเนินการสำรวจรายละเอียดในพื้นที่เพื่อหาข้อมูลพื้นฐานต่างๆ สำหรับใช้ประกอบการจัดทำแผนที่และกำหนดแผนการดำเนินงานต่อไป
-ข้อมูลพื้นฐานประกอบด้วย
--ชื่อป่า ให้ระบุชื่อป่าสงวนแห่งชาติ ตำบล อำเภอ และจังหวัดหากป่าที่ได้สำรวจคัดเลือกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้ระบุไว้ด้วย
--ขอบเขตและเนื้อที่ ให้แสดงอาณาเขตติดต่อและเนื้อที่โดยประมาณ
--ลักษณะภูมิประเทศให้รายงานลักษณะภูมิประเทศตลอดจนชนิดดินและหิน
-ให้ระบุข้อมูลทางเศรษฐกิจสังคม เช่น จำนวนประชากร หมู่บ้าน ตำบล สภาพชีวิตความเป็นอยู่ รายได้เฉลี่ย อาชีพหลัก อาชีพรอง ปัญหาทางด้านประชากรต่างๆ และทัศนคติที่มีต่อการดำเนินงาน
-ภูมิอากาศ ให้แสดงข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และฤดูกาลในพื้นที่นั้นหรือพื้นที่ใกล้เคียงเท่าที่สามารถจะทราบได้
-ให้ระบุชนิดป่า พรรณไม้ท้องถิ่น ตลอดจนไม้พื้นล่างที่สำคัญหรือที่มีเป็นจำนวนมาก
-ให้ระบุลักษณะของอันตรายที่จะได้รับจากคน สัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง แมลง หรือภัยธรรมชาติ และความเห็นในการป้องกัน
-การคมนาคม ให้ระบุระยะและเส้นทางคมนาคม ที่ติดต่อระหว่างป่ากับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และหากจำเป็นต้องตัดถนนเมื่อเริ่มดำเนินการเพื่อจะใช้เป็น--ทางตรวจการณ์ และ แนวกันไฟ หรือ เส้นทางขนส่งกล้าไม้และวัสดุอุปกรณ์ให้กำหนดเส้นทางไว้ในแผนที่ด้วย
-ให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับชนิดพรรณไม้ที่จะใช้ในการปลูก แหล่งเมล็ดไม้ และ แรงงานปลูกป่า
-ให้ระบุรายละเอียดสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินและการถือครองที่ดินในพื้นที่
-หากมีรายละเอียดอื่นใดที่เห็นว่าควรระบุไว้ เช่น มีหน่วยงานอื่นอยู่ในพื้นที่หรือปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อลุ่มน้ำ ก็ให้ลดข้อเสนอแนะให้ชัดเจนด้วย
-ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสำรวจคัดเลือกพื้นที่
(๒) การทำแนวกันไฟและทางตรวจการณ์การป้องกันไฟ ให้ทำแนวกันไฟขนาดความกว้าง ๘-๑๑เซนติเมตร รอบพื้นที่เพื่อกำหนดแนวเขตและควบคุมป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลามเข้ามาในพื้นที่เตรียมการปลูกป่าเพราะจะทำความเสียหายให้แก่ต้นไม้ และกล้าไม้ที่มีอยู่เดิมซึ่งสามารถฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ และถ้าหากเป็นการปลูกป่าแปลงใหญ่ หรือสภาพพื้นที่เป็นภูเขาหรือเนินเขาสูงชันสลับซับซ้อนควบคุมป้องกันไฟป่าได้ยาก ให้ทำแนวกันไฟภายแปลงปลูกป่าตามบริเวณแนวสันเขาและขอบเขา และหากมีการตัดถนนก็สามารถใช้เป็นทางตรวจการณ์และแนวกันไฟได้
(๓) การคัดเลือกชนิดพรรณไม้ปลูก
กล้าไม้ที่ปลูกต้องเป็นพรรณไม้ยืนต้น (tree) ที่เป็นพรรณไม้ท้องถิ่นที่สามารถสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ (natural regeneration ) ได้ดี ถ้าหากเมล็ดเป็นฝัก หรือผลสัตว์กินได้แล้วยิ่งเป็นการดี เพราะเมื่อไม้ที่ปลูกโตเต็มวัย จะสามารถแพร่กระจายเมล็ดได้เอง ทำให้พื้นที่ป่ากลับฟื้นคืนเองตามธรรมชาติใกล้เคียงสภาพดั้งเดิมได้ ให้กำหนดชนิดพรรณไม้ปลูกตั้งแต่ ๕ ชนิดขึ้นไป
(๔) การกำหนดระยะปลูก
กำหนดให้ปลูกต้นไม้แบบคละกัน ลักษณะไม่เป็นแถวเป็นแนว
(๕) การผลิตกล้าไม้
กล้าไม้ที่จะปลูกต้องเป็นกล้าไม้ที่เพาะเมล็ดจากแม่ไม้ที่มีลักษณะดีและอยู่ในวัยที่สมบูรณ์เต็มที่ มีจำนวนเพียงพอ ตามที่กำหนดจำนวนต้นต่อไร่ และเพิ่มจำนวนกล้าไม้ร้อยละ ๒๑ ของกล้าไม้ที่ปลูกในพื้นที่เพื่อใช้ในการปลูกซ่อม กล้าไม้ที่พร้อมปลูกต้องมีสภาพแข็งแรงและแกร่ง ขนาดความสูงประมาณ ๓๑-๖๑เซนติเมตร (ตามความเหมาะสมของพรรณไม้แต่ละชนิด)
(๖) การเตรียมพื้นที่



ให้แผ้วถางวัชพืชในพื้นที่ให้เสร็จสิ้นก่อนปลูก เก็บสุมวัชพืชให้ห่างจากตำแหน่งปลูกและห้ามเผาเพราะอาจทำความเสียหายแก่กล้าไม้หรือต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิมตามธรรมชาติ ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก ที่มีขนาดยาวประมาณ ๑ เมตร ปักหลักที่ตำแหน่งปลูกให้แน่น อาจทาสีแดงที่ปลายไม้เพื่อให้สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน การปลูกด้วยกล้าไม้ชำถุงให้ขุดหลุมมีขนาดกว้าง ยาว และลึกอย่างน้อย ๒๕ เซนติเมตร
(๗) การปลูก
ให้ปลูกพรรณไม้ตั้งแต่๕ ชนิดขึ้นไป จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๑๑ ต้นต่อไร่ หรือ ตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ ในพื้นที่ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรืออาจใช้ปุ๋ยเคมีสูตร ๑๕ : ๑๕ :๑๕ อัตราหลุมละ ๑๕-๒๕ กรัม ผสมดินรองก้นหลุม
(๘) การบำรุงรักษา
หลังจากการปลูกแล้วประมาณ ๑-๒ เดือน เพื่อที่จะให้กล้าไม้ที่ปลูกมีการรอดตายและเจริญเติบโตได้ดี พ้นจากการแก่งแย่งของวัชพืช ให้ทำการถางวัชพืชโดยเลือกใช้วิธีการถางเจาะร่องตามแนวระดับ หรือถากวงกลมรอบต้น หรือถางทั้งพื้นที่ ทั้งนี้แล้วแต่ความหนาแน่นของวัชพืชและ สภาพพื้นที่ จากนั้นให้ทำการนับอัตราการรอดตายและปลูกซ่อมกล้าไม้ที่ตายทันที โดยให้เสร็จสิ้น ภายในปีงบประมาณ
(๙) การรังวัดและหมายแนวเขต
พื้นที่ป่าที่ดำเนินการปลูกแล้วให้ทำการรังวัดโดยบันทึกลงในสมุดรังวัดพร้อมแผนที่มาตราส่วน ๑:๑0,000 และให้จัดทำป้ายแสดงแปลงปลูกป่า ขนาด ๖๑ซม.x ๑00 ซม. โดยให้ทาสีน้ำตาลเป็นพื้นและตัวหนังสือสีขาว
และให้หมายแนวเขตพื้นที่ปลูกป่าด้วยใช้หลักซีเมนต์ หรือเสาไม้เนื้อแข็งขนาดประมาณ ๗.๕ x ๗.๕เซนติเมตร ยาวอย่างน้อย ๑เมตรเหนือพื้นดิน ใช้สีขาวทาเพื่อให้เห็นชัดเจน การปักหลักเขตให้ปักตามหมุดรังวัดรอบพื้นที่ปลูกป่าเพื่อแสดงแนวเขตและเป็นหลักฐานในการตรวจสอบพื้นที่
(๑0) การประชาสัมพันธ์และลาดตระเวนป้องกันพื้นที่ การดำเนินงานจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนในท้องถิ่นในการเผ้าระมัดระวัง ดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกให้รอดตายและเจริญเติบโตได้ดี ควรมีการประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานและชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น แก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ จัดชุดลาดตระเวนตรวจตราป้องกันพื้นทีปลูกป่า เพื่อให้รอดพ้นอันตรายจากคน,สัตว์เลี้ยงและไฟป่า




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น